ตู้น้ำมันหยอดเหรียญเกลื่อนอุดรฯ - กรมธุรกิจพลังงานห่วงผู้ใช้ไม่ปลอดภัย
อุดรธานี - กรมธุรกิจพลังงาน ห่วงตู้น้ำมันเบนซินหยอดเหรียญที่เกิดขึ้นเกลื่อนเมืองอุดรธานี ยกเป็นสิทธิการอนุญาตขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หวั่นกระทบต่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ ชี้จัดเป็นสถานีบริการน้ำมันประเภท ง (ปั๊มหลอด

ต้องขออนุญาตให้ถูกกฎหมาย ขณะที่รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครอุดรธานี ระบุยังไม่เคยเซ็นอนุญาตตู้หยอดเหรียญแม้แต่รายเดียว
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี ขณะนี้มีผู้ประกอบธุรกิจค้าน้ำมัน นำตู้น้ำมันเชื้อเพลิง เบนซิน 91 และ 95 แบบหยอดเหรียญมาให้บริการ โดยตั้งอยู่ในย่าน ธุรกิจการค้า ที่อยู่อาศัย และริมถนนสาธารณะจำนวนมาก โดยตู้น้ำมันหยอดเหรียญ เป็นการผลิตของคนไทย รับอนุสิทธิบัตร เลขที่ 1930 ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ตามโครงการกระตุ้นต่อมคิดของรัฐบาลเพื่ออนาคตคนไทย
สำหรับตู้น้ำมันหยอดเหรียญแบ่งเป็น 2 แบบ คือ แบบตู้คู่น้ำมัน 2 ชนิด ความจุ 400 ลิตร และตู้เดี่ยวน้ำมัน 1 ชนิด ความจุ 200 ลิตร ติดป้ายแจ้งว่าเติมต่ำสุด 10 บาท เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
นายสมหมาย วารีสระ ปฏิบัติหน้าที่ธุรกิจพลังงาน จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า การออกใบอนุญาตสถานบริการน้ำมัน ได้ถ่ายโอนให้ไปอยู่ในความรับผิดชอบ ขององค์กรปกครองท้องถิ่นแล้ว โดยตู้น้ำมันแบบหยอดเหรียญ ถือเป็นสถานีบริการน้ำมัน ประเภท ง (ปั๊มหลอด

ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมาย
แต่การปล่อยให้ผู้บริโภคน้ำมันบริการตัวเอง ไม่มีผู้ดูแลช่วยระงับอุบัติเหตุ และยังเปิดจำหน่ายตลอด 24 ชม.โดยอ้างว่าไม่ใช่สถานีบริการน้ำมัน กรมธุรกิจพลังงานจึงกำหนดแนวทางปฏิบัติ เพื่อความปลอดภัย ไปยังองค์กรปกครองท้องถิ่น ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ต้องแจ้งเจ้าพนักงานทราบก่อนเปิด ซึ่งจะเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดไวไฟน้อย ไวไฟปานกลาง และไวไฟมาก ในถังน้ำมันเชื้อเพลิง 227 ลิตร ไม่เกินชนิดละ 2 ถัง ต้องหยุดจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงระหว่างเวลา 22.00-05.00 น. ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 2/2548
ขณะที่สถานที่ต้องไม่อยู่ในเขตห้ามประกอบกิจการ ตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง และต้องปฏิบัติตามมาตรา 18 , 19 และ 30 พ.ร.บ.ว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2474 โดยห้องเก็บน้ำมันเชื้อเพลิง ต้องทำด้วยวัสดุไม่ใช่เชื้อเพลิง อยู่ห่างจากเตาหรือก๊าซหุงต้ม 3 เมตร สุดท้ายต้องมีทรายไว้ดับเพลิง 2 ใน 10 ส่วนของน้ำมัน และต้องมีผู้ดูแลตลอดเวลา
ด้าน นายอิทธิพล ตรีวัฒนสุวรรณ รองนายกเทศมนตรีนครอุดรธานี ชี้แจงว่า แม้จะถ่ายโอนการอนุญาตมาให้ แต่การพิจารณาอนุญาตยังอยู่ในรูปกรรมการ ที่ผ่านมามีเฉพาะการพิจารณา ปั๊มน้ำมันขนาดใหญ่ ไม่เคยอนุญาตเรื่อง ปั๊มหลอด หรือ ปั๊มหยอดเหรียญ เลยแม้แต่รายเดียว มีเพียงผู้ประกอบการ 2 ราย มายื่นขออนุญาต แต่ก็ยังไม่ได้รับอนุญาต
ทั้งนี้ เพราะการส่งเอกสารยังไม่ครบ ประกอบกับแนวทางการอนุญาต ยังไม่มาถึงอย่างเป็นทางการ หากมีแนวทางปฏิบัติแล้ว ก็จะเร่งดำเนินการตามกฎหมายทันที และขอให้ผู้ประกอบการปั้มหยอดเหรียญ มาติดต่อยื่นขออนุญาตให้ถูกต้องด้วย
ภาพ/ข่าว นสพ.ผู้จัดการ
ข้อมูลโดย ผู้จัดการออนไลน์ http://www.manager.co.th